ทฤษฎีการยอมรับเทคโนโลยี Technology Acceptance Model – TAM คืออะไร ?

เคยสงสัยไหมว่าทำไมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ถึงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางเทคโนโลยีเกิดขึ้นและจากไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน – รู้จักทฤษฎีการยอมรับเทคโนโลยี Technology Acceptance Model หรือ TAM นับเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสาขาวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้พัฒนาและนักวิจัยเข้าถึงแรงจูงใจของผู้ใช้งาน ทำนายพฤติกรรม และออกแบบเทคโนโลยีที่ผู้คนพร้อมใจที่จะยอมรับ และนำไปสู่การใช้งานจริง

การยอมรับเทคโนโลยี Technology Acceptance Model

ทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการศึกษาวิจัยเพื่อทำนายพฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีของผู้ใช้งาน ถูกพัฒนาขึ้นโดย Fred Davis ในปี 1989 เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยในแง่มุมต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับที่จะก่อให้เกิดใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถสร้างสรรค์ผลงานสารสนเทศได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้

ทำความรู้จัก 2 องค์ประกอบหลักของ TAM

1. การรับรู้ประโยชน์ (Perceived Usefulness - PU)

ความเชื่อของบุคคลว่าเทคโนโลยีนั้นๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรูปแบบเดิมของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด” โดยทฤษฎีได้เสนอแนวคิดไว้ว่า การรับรู้ประโยชน์ เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อ ความตั้งใจที่จะใช้ เทคโนโลยีนั้นๆ หากผู้ใช้รับรู้ว่าเทคโนโลยีนั้นจะเป็นประโยชน์ และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาได้

2. การรับรู้ความง่ายในการใช้ (Perceived Ease of Use - PEOU)

ความเชื่อของบุคคลต่อความยาก-ง่ายในการใช้งานเทคโนโลยีใดๆ” หากผู้ใช้รับรู้ว่าเทคโนโลยีนั้นใช้งานง่าย และเข้าใจได้ง่าย โอกาสที่พวกเขาจะยอมรับเทคโนโลยีนั้นก็จะเพิ่มสูงขึ้น

แน่นอนแล้วว่าปัจจัยทั้ง 2 ล้วนมีอิทธิพล หรือส่งผลต่อปัจจัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

วิธีการทำงานของ TAM Model

กระบวนการทำงานของ TAM Model
กระบวนการทำงานของ TAM Model

[Step 1] ตัวแปรภายนอก (External Variables) อาทิ ประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีในอดีต การฝึกอบรม และความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อ การรับรู้ถึงประโยชน์ (PU) และในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลต่อ ความง่ายในการใช้งาน (PEOU) ได้ด้วยเช่นกัน

[Step 2] การรับรู้ถึงประโยชน์ (Perceived Usefulness) มีผลโดยตรงต่อทัศนคติ (A) ของผู้ใช้ ได้แก่ การเปิดใจใช้ซอฟต์แวร์ใหม่จะทำให้การทำงานเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความตั้งใจในการใช้งาน (BI) อีกด้วย

[Step 3] การรับรู้ถึงความง่ายในการใช้ (Perceived Ease of Use) มีผลต่อทั้ง PU และ A ของผู้ใช้ ได้แก่ UI เข้าใจได้ง่ายจัง ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้นาน มีมุมมองที่ดีต่อเทคโนโลยีนี้จัง

[Step 4] เมื่อผู้ใช้งานมีทัศนคติต่อการใช้ (Attitude Toward Using) หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อการใช้เทคโนโลยี จากปัจจัยหลัก PU และ PEOU ย่อมส่งผลต่อมุมมองเชิงบวก ทำให้มีแนวโน้มที่จะตั้งใจใช้เทคโนโลยี (BI)

[Step 5] ความตั้งใจในการใช้ (Behavioral Intention to Use) หรือมีแผนจะใช้งานในอนาคต !

[Step 6] การใช้เทคโนโลยีจริง (Actual System Use) ในเมื่อเป็นเทคโนโลยีที่ดี มีประโยชน์ แล้วยังใช้งานได้ง่าย ผู้ใช้จึงเกิดการตัดสินใจใช้งานจริง – การใช้งานจริงจะสะท้อนถึงการยอมรับเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

การเชื่อมโยงภายใน Model

  1. External Variables → PU และ PEOU ตัวแปรภายนอกมีผลต่อการรับรู้ถึงประโยชน์ และความง่ายในการใช้เทคโนโลยี
  2. PU และ PEOU → Attitude การรับรู้ถึงประโยชน์และความง่ายในการใช้ ส่งผลต่อทัศนคติของผู้ใช้
  3. PEOU → PU นอกจากนี้การรับรู้ความง่ายในการใช้งาน ยังส่งผลต่อการรับรู้ถึงประโยชน์
  4. Attitude และ PU → BI ทัศนคติและการรับรู้ถึงประโยชน์ มีผลต่อความตั้งใจในการใช้เทคโนโลยี
  5. BI → ASU ความตั้งใจในการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้มีการใช้งานเทคโนโลยีจริง

เพิ่มเติม การวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis) ทำได้โดยการคำนวณค่าเส้นทาง (Path Coefficients) ระหว่างตัวแปรแต่ละคู่ ค่านี้มักจะได้มาจากการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) โดยใช้วิธีการทางสถิติเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป ~

การประยุกต์ใช้งานในองค์กรขนาดเล็ก - ใหญ่

TAM สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในบริษัทขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โดยการปรับแต่งปัจจัยให้เหมาะสมกับบริบท และความต้องการของแต่ละองค์กร 

การยอมรับเทคโนโลยีในองค์กร
การยอมรับเทคโนโลยีในองค์กร
  • ประเมินความต้องการขององค์กร เมื่อมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน จะช่วยแก้ปัญหา หรือปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างไร ? ทำอย่างไรให้การใช้ทรัพยากรมีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  • การฝึกอบรมและสนับสนุน  เป็นการสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความง่ายในการใช้เทคโนโลยีภายในองค์กร เพราะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยเพิ่ม PEOU และส่งเสริมการยอมรับเทคโนโลยี ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการถ่ายทอดวิธีการใช้งานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือจัดอบรม และจัดตั้งทีมสนับสนุนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการใช้งานเทคโนโลยี
  • การสื่อสารและการมีส่วนร่วม การสื่อสารอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับประโยชน์ และวิธีการใช้งานของเทคโนโลยีสามารถช่วยลดความกังวล และเพิ่มการยอมรับให้คนในองค์กรได้

ข้อจำกัดของทฤษฎี TAM ที่ควรรู้

  1. มีเพียงสมมติฐานเชิงเส้น การตั้งสมมติฐานยังคงเป็นเชิงเส้นตรง และเป็นไปในทิศทางเดียว ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับความซับซ้อนของพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในอนาคต
  2. ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก การระบุปัจจัยภายนอกอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  3. ขาดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทฤษฎีมุ่งเน้นที่การยอมรับเทคโนโลยีในช่วงแรก ซึ่งไม่ได้เน้นถึงการใช้งานอย่างต่อเนื่อง หรือการบูรณาการในระยะยาว
  4. ข้อจำกัดอื่นๆ ทางเทคนิคและการปฏิบัติ ที่อาจเป็นเพราะในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หรือในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้การนำไปปฏิบัติเป็นไปได้ยาก

บทสรุป

ทฤษฎีการยอมรับเทคโนโลยีเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางสำคัญในกระบวนการพัฒนานวัตกรรม โดยเป็นเครื่องมือวิเคราะห์อันทรงพลัง เพื่อช่วยทำความเข้าใจความต้องการ และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ช่วยให้นักพัฒนาสามารถออกแบบ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องเพื่อตอบโจทย์ และนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่แท้จริง แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีก็จำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาด และแก้ไขข้อจำกัดของทฤษฎี

กระตุ้นการยอมรับเทคโนโลยี Technology Acceptance สู่การนำมาซึ่ง Adoption

 

AI เปลี่ยนโลก (Admin.earth)
AI เปลี่ยนโลก (Admin.earth)

Blogger technology in programmers' stains.

Articles: 117

Copyright © 2024 - เขียนโค้ดดอทคอม


Verified by MonsterInsights