วันนี้เขียนโค้ดจะพามาทำความรู้จักว่า บิทคอยน์คืออะไร ? ผ่าน Bitcoin whitepaper ที่ได้ถูกนำเสนอจาก Satoshi Nakamoto กันน – Bitcoin หรือ ระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ P2P (Peer-to-Peer) ใช้วิธีการพิสูจน์ผ่านเครือข่าย Blockchain ซึ่งจะบันทึกเวลาของธุรกรรมไว้โดยการแฮช (Hash) เพื่อสร้างบันทึกการทำธุรกรรมที่ปลอดภัย และตรวจสอบย้อนกลับ หรือย้อนหลังได้ ธุรกรรมเหล่านี้จะเข้าสู่ห่วงโซ่ของการพิสูจน์งาน (Proof-of-Work) ที่ยึดตามค่าแฮชที่ได้บันทึกไว้ ซึ่งเป็นกลไกฉันทามติที่ได้ตกลงร่วมกัน (Consensus) ทำให้เกิดการบันทึกธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เครือข่ายนี้ส่งผลให้สามารถทำธุรกรรมได้โดยตรงระหว่างผู้ใช้งาน โดยไม่ต้องผ่านสถาบันกลางอีกต่อไป
บทนำของ Bitcoin whitepaper
ในปัจจุบันระบบการชำระเงินแบบดั้งเดิมยังคงพึ่งพาสถาบันการเงินเป็นตัวกลาง (ธนาคาร) ซึ่งมีข้อจำกัดตามมาหลายประการ เช่น ค่าธรรมเนียมสูง ความเสี่ยงในการถูกยกเลิกธุรกรรม และการขาดความเป็นส่วนตัว เพราะสถาบันการเงินเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ได้โดยตรง การไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลที่สามจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง
แนวคิดพื้นฐานของการทำธุรกรรม - บิทคอยน์คืออะไร ?
ในแต่ละครั้งที่มีการโอนเหรียญระหว่างการทำธุรกรรม เจ้าของคนปัจจุบัน (กรณีเป็นคนที่ 2) จะสร้างลายเซ็นดิจิทัลขึ้นมาใหม่ (New Digital Signature 🔏) โดยลายเซ็นนี้จะอ้างอิงไปยังกุญแจสาธารณะของเจ้าของคนก่อนหน้า (Owner 1’s Public Key 🔑) และจะระบุถึงกุญแจสาธารณะของเจ้าของคนถัดไป (Owner 3’s Public Key 🔑) เพื่อระบุว่าเหรียญจะถูกส่งไปยังที่อยู่ (Address) นั้น ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของเหรียญในแต่ละขั้นตอน ซึ่งเจ้าของแต่ละคนจะถือกุญแจลับ (Private Key 🔐) ไว้กับตัวเองเพื่อใช้ในการทำธุรกรรม
Bitcoin แก้ปัญหาการใช้เหรียญซ้ำซ้อนที่เป็นปัญหาใหญ่ในระบบการเงินดิจิทัล ด้วยการกระจายอำนาจ (Decentralization) ในการควบคุมระบบไปยังผู้ใช้งานทุกคน ทำให้ไม่มีใครสามารถควบคุมระบบได้เพียงลำพัง และทุกคนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมได้อย่างโปร่งใสผ่านเครือข่าย Blockchain
เข้าใจ Timestamp Server
การสร้าง Block บน Blockchain ข้อมูลที่จะถูกบันทึกจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า “block” แต่ละบล็อกประกอบด้วยหลายๆ “item”
ในแต่ละบล็อกจะถูกคำนวณค่าแฮช ซึ่งเป็นค่ารหัสที่ไม่ซ้ำกัน และมีความยาวคงที่ หลักการง่ายๆ ของเครือข่ายบล็อกเชน คือ “ห่วงโซ่ของบล็อกแต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมโยงกันด้วยค่าแฮช” ซึ่งค่าแฮชล่าสุดจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกธุรกรรม
กลไกความน่าเชื่อถือ Proof-of-Work
การสร้าง Block – ข้อมูลในเครือข่ายจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม เรียกว่า บล็อก โดยแต่ละบล็อกประกอบด้วยหลายธุรกรรม (Tx) มีค่า “Nonce” และ “Prev Hash” เป็นองค์ประกอบ
ขยายความ
- Nonce ค่าตัวเลขสุ่มที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงค่า Nonce เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ค่าแฮชของบล็อกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้แต่ละบล็อกมีความเป็นเอกลักษณ์
- Hash ค่ารหัสที่ไม่ซ้ำกัน และมีความยาวคงที่
- Prev Hash ค่าแฮชของบล็อกก่อนหน้า ทำหน้าที่เชื่อมโยงบล็อกต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นห่วงโซ่
กลไก POW (Proof-of-Work) ของบิทคอยน์ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเครือข่าย โดยทำให้การสร้างบล็อกใหม่ๆ ต้องใช้พลังงานคอมพิวเตอร์จำนวนมากในการตรวจสอบ และเป็นการกระจายอำนาจ จึงทำให้ไม่มีใครสามารถควบคุมเครือข่ายได้เพียงคนเดียว
หลักการใช้เสียงส่วนใหญ่ด้วย POW
- 1 CPU : 1 สิทธิ์ POW ใช้กลไกการตัดสินใจโดยขึ้นอยู่กับพลังการประมวลผลของ CPU บน Computer
- การแข่งขันหาค่า Hash ผู้เข้าร่วมเครือข่าย หรือนักขุด (Miner) จะทำการแข่งขันกันแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ (หาค่าแฮชที่ตรงตามเงื่อนไข) ผู้ที่แก้ปัญหาได้ก่อนจะได้รับรางวัลเป็น Bitcoin
- ความยาวของห่วงโซ่ ยิ่งบล็อกที่ยาวที่สุด และใช้พลังงานการคำนวณมากที่สุด จะถือเป็นห่วงโซ่ที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับ
- ความยากในการโจมตีเครือข่าย การที่แฮกเกอร์ต้องการจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบล็อกที่ผ่านมา จำเป็นต้องแก้ไขค่าแฮชของบล็อกนั้น และในทุกๆ บล็อกที่เกิดตามมา ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาล และเป็นไปได้ยาก
เข้าใจ Network ใน Bitcoin
- เครือข่ายแบบกระจายอำนาจ เครือข่าย Bitcoin ประกอบด้วยโหนด (Node 🖥️) หลายพันเครื่องที่กระจายอยู่ทั่วโลก
- การเผยแพร่ธุรกรรม ธุรกรรมใหม่จะถูกเผยแพร่ไปยังโหนดต่างๆ ในเครือข่าย
- การสร้างบล็อก โหนดแต่ละตัวจะรวบรวมธุรกรรมใหม่ๆ และสร้างบล็อก
- การยอมรับบล็อก เมื่อโหนดใดโหนดหนึ่งหาค่า Hash ได้สำเร็จ จะเผยแพร่บล็อกนั้นไปยังเครือข่าย โหนดอื่นๆ จะตรวจสอบความถูกต้องของบล็อก และยอมรับหากผ่านการตรวจสอบ 🖥️✅ – 🖥️✅ – 🖥️✅
- การแก้ไขความขัดแย้ง หากมีการสร้างบล็อกใหม่ 2 บล็อกพร้อมกัน โหนดจะเลือกบล็อกที่ได้รับก่อน และทำงานต่อยอดจากบล็อกนั้น หากบล็อกอีกสายหนึ่งยาวกว่า โหนดจะเปลี่ยนไปทำงานต่อยอดกับบล็อกที่ยาวกว่า
ประโยชน์ของ Bitcoin
- การกระจายอำนาจ
- ความปลอดภัย
- ความโปร่งใส
- ความยืดหยุ่น
การทำความเข้าใจว่าบิทคอยน์คืออะไร เปรียบเสมือนการเปิดประตูเข้าสู่โลกของเงินดิจิทัล (Digital Currency) และ Cryptocurrency ที่มีการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลธุรกรรม และมีการตรวจสอบยืนยันผ่านเครือข่าย Blockchain ที่เชื่อมต่อข้อมูลเป็นห่วงโซ่ บทความนี้เพียงต้องการนำเสนอข้อมูลที่อ้างอิงจาก Whitepaper เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงเทคนิค หากต้องการข้อมูลเชิงเทคนิคเพิ่มเติมสามารถเข้าไป อ่านฉบับเต็มได้ที่ Bitcoin whitepaper แล้วคุณจะรู้ว่าโลกการเงินยุคใหม่รออยู่ไม่ไกล